วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

วันกาชาดไทย

90 ปี ยุวกาชาดไทย
“วันคล้ายวันสถาปนายุวกาชาดไทย ประจำปี 2555”



        24  มิถุนายน  2402 นายอังรี  ดูนังต์ นักธุรกิจชาวสวิส ได้ผ่านไปพบเห็นความตาย ความเจ็บปวดทรมาน ความลำบากทุกข์ยาก ท่ามกลางการสู้รบกัน  ระหว่างกองทัพออสเตรีย และกองทัพฝรั่งเศส  ณ สมรภูมิรบเมือง    ซอลฟาริโน ประเทศอิตาลี จนเป็นที่มาของการก่อตั้งองค์กรมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ องค์กร  ”กาชาด”  ดำเนินงานภายใต้หลักการกาชาด 7 ประการ เป็นสำคัญ

    ปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และวิกฤตการณ์ปากน้ำ มีความรุนแรงมาก ทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ไม่มีองค์กรการกุศลใดเข้าช่วยเหลือพยาบาล หรือบรรเทาทุกข์อย่างจริงจัง ท่านผู้หญิงเปลี่ยน  ภาสกรวงศ์ ได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีขอให้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จัดตั้ง  “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม”  เมื่อ 26 เมษายน พ.ศ. 2436  (ร.ศ. 112) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สภากาชาดสยาม  และ สภากาชาดไทย ในปัจจุบัน ปฏิบัติงานภายใต้หลักการกาชาด 7 ประการ ของสหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ(ICRC)  รวมระยะเวลาได้ 119 ปี (พ.ศ. 2555)
                                                                                                                      ครั้นถึง พ.ศ. 2465 จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยามได้ทรงให้เหตุผลว่า สภากาชาดบางประเทศได้จัดตั้งสภากาชาดสำหรับเด็กขึ้นบ้างแล้ว ปรากฏว่าดำเนินการได้ผลดี เห็นควรที่สภากาชาดสยามจะได้จัดตั้งสภากาชาดสำหรับเด็กขึ้นบ้าง โดยควรใช้โรงเรียนเป็นที่เริ่มต้น จึงได้ฝากงานไว้ให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ)ซึ่งดูแลกิจการลูกเสืออยู่แล้ว โดยสภากาชาดไทยจะเป็นผูรับผิดชอบเรื่องเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี
      27 มกราคม  พ.ศ. 2465 จึงถือเป็นวันที่ กองอนุสภากาชาด ได้รับการก่อตั้งขึ้นตามข้อบังคับสภากาชาดไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่3) ว่าด้วยอนุสภากาชาดสยาม มี จางวางโทเจ้าพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการกอง อนุสภากาชาดสยามคนแรก ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ คือ “เกลี้ยกล่อมเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี เป็นสมาชิก ด้วยความประสงค์ที่จะปลูกฝัง เพาะนิสัยให้มีใจเมตตากรุณาต่อมนุษยชาติ  ให้เป็นพลเมืองดี มุ่งทำประโยชน์ให้แก่คนหมู่มาก  ให้รู้จักทำการงานเป็นกิจจะลักษณะ” ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2496 เปลี่ยนชื่อเป็น “อนุกาชาด” ภายหลังพิจารณาเห็นว่า กิจการนี้ควรจะขยายไปจนถึงเยาวชนระดับ อุดมศึกษา ที่มีอายุระหว่าง 7 - 25 ปี จึงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น  “ยุวกาชาด”   ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 จนถึงทุกวันนี้
      ปัจจุบัน กิจการ ”ยุวกาชาด” ดำเนินงานร่วมกันโดย 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย  และ สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน  สำนักปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ   มุ่งเน้นอบรมให้ความรู้ด้านอนามัย และการบำเพ็ญประโยชน์แก่เยาวชนทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาสังกัดต่างๆ รวมถึงเยาวชนกลุ่มพิเศษในความรับผิดชอบของหน่วยงาน ต่างๆ   อาทิ  สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กรมราชทัณฑ์ เป็นต้น และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมกิจกรรมที่สอดคล้องกับภาระกิจแก่นหลัก สภากาชาดไทย คือ บริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย การบรรเทาทุกข์ผู้ประสพภัยพิบัติ การบริการโลหิต การสังคมสงเคราะห์และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและวัตถุประสงค์สากลของยุวกาชาดทั่วโลก   คือ
      “ Education  for Peace  การอบรมเยาวชนให้มีอุดมคติในศานติสุข
      Good Health มีความรู้ความชำนาญในการรักษาอนามัยของตนเองและส่งเสริมอนามัยของผู้อื่น
      Good Service  รู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
      International Friendship  มีสัมพันธภาพที่ดีต่อคนทั่วไป”
 จากวัตถุประสงค์ยุวกาชาดสากล ดังกล่าว สภากาชาดไทย ได้นำมาปรับให้เหมาะสมกับสภาพสังคม ความเป็นอยู่ภายในประเทศ เป็นวัตถุประสงค์ของยุวกาชาดไทย คือ
 1. มีอุดมการณ์ในศานติสุข มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
 2. มีความรู้ ความชำนาญ ในการรักษาอนามัยของตนเองและของผู้อื่นตลอดจนพัฒนาตนเอง ทางร่างกาย จิตใจ คุณธรรม และธำรงค์ไว้ ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ
 3. มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการและอุดมการณ์กาชาด มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตเมตตา กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
 4. บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
 5. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
 6. มีสัมพันธภาพและมิตรภาพที่ดีต่อบุคคลทั่วไป
     กลุ่มเป้าหมายของยุวกาชาด โดยจำแนกตามประเภทการศึกษา  เพื่อจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  และเยาวชน ดังนี้
 1. สมาชิกยุวกาชาด หมายถึงเยาวชนชาย – หญิงอายุระหว่าง 7 - 18 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษา  หรือเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และเลือกเรียนยุวกาชาดหลักสูตรการเรียนการสอนยุวกาชาดของกระทรวงศึกษาธิการ
 2. อาสายุวกาชาด หมายถึงเยาวชนชาย – หญิง อายุระหว่าง 15 – 25 ปี  หรือเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ซึ่งมีความสนใจสมัครเป็นอาสายุวกาชาด ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรพื้นฐานยุวกาชาด และสังกัดชมรมอาสายุวกาชาด
     จะเห็นได้ว่า  “ยุวกาชาดไทย”  ไม่มีการจำกัดเรื่องเพศและวัย เพราะเยาวชนทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายวัยใด  ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมยุวกาชาดได้  สามารถช่วยเหลือด้วยจิตอาสา ตามอุดมการณ์ของกาชาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น